วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2550

re-tell-19 : รู้ไว้ใช่ว่าเรื่องแบตเตอรี่

สวัสดีครับ ทุกคน หลังจากที่ผมได้เริ่มเขียน Blog ได้ไม่นาน ก็พบว่ามีบทความที่น่าสนใจมากมาย จึงอยากนำมาฝากเพื่อนๆ ซึ่งจะต่างกับการแนะนำ เว็บไซต์ หรือเว็บบล๊อกดีๆ ใน Web Blog Guide Station นะครับ เพราะเป็นการนำเฉพาะบทความ หรือบางส่วนของเว็บไซต์มาเท่านั้น และผมจะอ้างถึง หน้าเว็บเพจ นั้นๆ ที่ท้ายบทความในส่วน page reference ครับ


........................................................................

re-tell-19 : รู้ไว้ใช่ว่าเรื่องแบตเตอรี่รถยนต์


เขียนถึงเรื่องแบตเตอรี่แล้วก็นึกขำกับรถฝรั่งยี่ห้อหนึ่ง มีรถรุ่นใหม่ๆออกมาเป็นรถที่ใช้แบตเตอรี่ที่เรียกกันตามกระแสว่า Maintenance Free มี Service Information ไปยังหน่วยงานบริการหลังการขายว่าไม่จำเป็นต้องเติมน้ำกลั่นตลอดอายุการใช้งาน


อ่านข้อมูลข่าวสารครั้งแรกก็บอกว่าดีทุ่นเวลาในการดูแลแบตเตอรี่ไปอีกอย่างหนึ่ง แต่ก็ด้วยความเคยชินของการเป็นช่างโบราณรถรุ่นที่ว่านั้นเข้ามารับบริการที่ 15000 กิโลหรือบริการครั้งแรกก็ต้องเปิดตรวจดูน้ำกลั่นกันตามปกติ และก็ทุกคันไปต้องมีการเติมน้ำกลั่นให้อยู่ในระดับมากบ้างน้อยบ้าง ก็ไม่คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่โตอะไร เรื่องมาขำขันเอาตรงที่ว่าประมาณหกเดือนจากข้อมูลหรือคำแนะนำในการบำรุงรักษาครั้งแรก


ที่บอกว่าไม่ต้องเติมน้ำกลั่นหรือไม่ต้องบำรุงรักษา ก็มีคำสั่งตามออกมาว่าให้ตรวจดูน้ำกลั่นตามปกติ ครับก็เป็นเรื่องขำขันกันในวงช่างของรถยี่นั้น สำหรับท่านที่ใช้แบตเตอรี่แบบนั้นอยู่ก็ต้องดูแลระดับน้ำกลั่นในแบตเตอรี่อย่างเดิมครับเพียงแต่อาจจะทอดเวลาให้นานขึ้นหน่อยเท่านั้นเอง การขับรถในสภาพจราจรที่แออัด ขับแล้วหยุดในระยะทางสั้นๆตลอดเวลาก็คือใช้เครื่องยนต์ที่รอบต่ำๆก็จะบั่นทอนอายุการใช้งานของแบตเตอรี่


เพราะตามปกตินั้นไดชาร์จหรือ อัลเทอร์เนเทอร์ (Alternator) จะปั่นไฟเข้าไปเก็บในแบตเตอรี่ก็ด้วยรอบการทำงานของเครื่องที่รอบเดินเบาไปจนถึงไม่เกินสองพันห้าร้อยรอบเรียกว่ารอบน้อยก็ชาร์จออกมาน้อยรอบมากก็ชาร์จมาก แต่ถ้ารอบเครื่องเกินกว่าสองพันห้าร้อยรอบก็จะชาร์จได้สูงสุดเท่าที่จะมีกำลังปั่นไฟออกมาได้ หรือพูดอีกอย่างว่ารอบเกินสองพันห้าร้อยรอบก็ชาร์จได้เท่าเดิม โดยเฉพาะกับขณะที่ โรงเรียนเปิด ฝนตก รถติด พร้อมๆกับที่รถรุ่นใหม่ประเคนความสะดวกสบายและระบบความปลอดภัยที่เป็นระบบไฟฟ้าหรือ อิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาในรถ กันเต็มที่ รถติดขับด้วยเครื่องรอบต่ำๆอุปกรณ์ในรถใช้พร้อมๆกันเกือบหมดทุกระบบ


ความสามารถที่แบตเตอรี่จะกักเก็บประจุไฟไว้ใช้งานก็น้อยลง ไม่ว่าจะเป็นรถใหม่รถเก่า พร้อมที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และปัจจุบันรถที่ใช้งาน ส่วนใหญ่จะเป็นเกียร์ออโต้เมติกกันทั้งนั้นโอกาสที่ไฟหมดหม้อแล้วจะเข็นให้รถติดเป็นไปไม่ได้เลย นอกจากการหมั่นดูแลรักษาแบตเตอรี่อย่างเป็นประจำแล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีสายพ่วงแบตเตอรี่ (Booster cables) ติดรถไว้สักคู่หนึ่ง สายพ่วงแบตเตอรี่ ต้องเลือกขนาดที่เหมาะสมถูกต้อง ในบางประเทศเขาจะมีข้อกำหนดบังคับไว้เลยว่า ในรถเก๋งนั่งหรือรถที่ใช้แบตเตอรี่ขนาด 12โวลต์ จะต้องใช้สายที่มีขนาดหน้าตัดไม่ต่ำกว่า 25 ตารางมิลลิเมตร


และถ้าเป็นรถที่ใช้ไฟมากกว่า12โวลต์ เช่นรถบรรทุกที่ใช้ไฟ24โวลต์ ขนาดหน้าตัดของสายพ่วง ต้องมีพื้นที่หน้าตัดไม่ต่ำกว่า70มิลลิเมตร ได้ขนาดสายพ่วงแล้วต้องดูที่ ตัวคีบขั้ว ต้องแน่นหนาแข็งแรง คีบจับไปที่ขั้วของแบตเตอรี่แล้วไม่หลวมหลุดคลอน


ถ้า รถคุณไฟหมดหม้อกลางถนนก็ต้องการพ่วงแบตเตอรี่จากรถคันอื่น ต้องดูก่อนว่ารถคันที่เข้ามาช่วยคุณนั้นแบตเตอรี่มีกำลังไฟมากหรือน้อยกว่าคุณเช่น แบตเตอรี่คุณใช้อยู่ห้าสิบห้าแอมแปร์มีรถเข้ามาช่วยคุณแต่รถของเขาใช้เพียงสี่สิบห้าแอมแปร์ก็ไม่เกิดประโยชน์


หรือรถอีกคันที่เข้ามาช่วยคุณใช้แบตเตอรี่ขนาดเก้าสิบแอมแปร์แน่นนอนมีกำลังไฟมากเกินพอที่จะช่วยคุณ แต่กำลังไฟที่มากเกินก็อาจจะทำให้ระบบอื่นในรถเสียหายได้ ควรเลือกแบตเตอรี่ที่มาพ่วงมีกำลังไฟไม่สูงเกินกว่าร้อยละยี่สิบของที่มีอยู่ในรถคุณ อย่างในกรณีนี้คุณไม่ควรใช้แบตเตอรี่ที่มีกำลังไฟสูงเกินกว่าเจ็ดสิบแอมแปร์


เมื่อได้รถพร้อมกับขนาดของแบตเตอรี่ที่เหมาะสมและสายพ่วงของคุณอยู่ในสภาพที่เหมาะสม คุณก็ให้ผู้มาช่วยเหลือ ติดเครื่องเดินเบาเอาไว้ คุณหรือเขาจะต้องเอาขั้วบวกของสายพ่วง คีบเข้าไปที่ขั้วบวกของแบตเตอรี่รถคันที่มาช่วยเหลือก่อน แล้วเอาขั้วบวกของอีกข้างหนึ่งคีบไปที่ขั้วบวกของแบตเตอรี่ของรถคุณ ต่อจากนั้นเอาขั้วลบของสายพ่วง ต่อเข้ากับขั้วลบของรถคันที่มาช่วยเหลือปลายขั้วลบของสายพ่วงที่เหลือก็จะต่อเข้ากับขั้วลบของแบตเตอรี่ ของรถคุณ อ่านยาวแล้วสับสนก็จำง่ายๆบวกต่อบวก ลบต่อลบ เริ่มผู้มาเยือนก่อน(ต่อขั้วผิดเสียหายมากครับ) ในขณะนี้รถของผู้มาช่วยเหลือยังติดเครื่องเดินเบาอยู่ คุณเข้าไปในรถปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดติดเครื่อง เมื่อเครื่องติดแล้วให้คุณเปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดให้ใช้งานได้ที่ปัดน้ำฝน(ต้องระวังในกรณีที่เปิดฝากระโปรงรถอยู่) ไฟไล่ฝ้าที่มีอยู่ วิทยุ เทป ซีดี ทีวี เปิดให้หมด ยกเว้นไฟหน้าทุกดวง ในขณะที่คุณใช้เวลาเปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกตัวเวลาที่เสียไปก็มากพอที่ที่จะตรวจสอบและยืนยันได้แน่นอนว่า เครื่องของคุณดับเพราะไฟหมด


ต่อไปก็เริ่มกันอีกครั้งโดยการถอดสายพ่วงออก ต้องเริ่มกันที่ถอดสายลบออกก่อนทั้งจากรถคุณหรือรถผู้ช่วยเหลือ ใครก่อนหลังไม่จำเป็นแต่เมื่อจะถอดต้องถอดขั้วลบก่อน(เมื่อต้องต่อ ต่อขั้วบวกก่อน)
ครับตรวจดูแลแบตเตอรี่ตามหนังสือคู่มือเป็นประจำรวมทั้งขั้วสายที่ต่ออยู่กับขั้วแบตเตอรี่ด้วยว่ามั่นคงแข็งแรงดีไหมขั้วแบตเตอรี่ มีคราบขาวๆหรือที่เรียกว่าขี้เกลือบ้างไหมถ้ามีก็เอาน้ำร้อนราดเช็ดถูทำความสะอาดหาจารบีทาไปที่รอบๆขั้วแบตเตอรี่ ก็น่าจะอุ่นใจขึ้น


ถ้ามีความจำเป็นจะเปลี่ยนแบตเตอรี่ ก็เลือกขนาดเท่าเดิมหรือต้องการที่มีกำลังไฟมากกว่าเดิมก็ไม่ควรจะเกินกว่าร้อยละยี่สิบของลูกเดิม การชาร์จแบตเตอรี่ทั้งใหม่และเก่าควรจะชาร์จแบบช้า(ไม่เกินสิบเปอร์เซ็นต์ของกำลังไฟคือแอมแปร์)และถ้ารีบร้อนต้องการจะชาร์จแบบเร็วหรือเร่งด่วนก็ไม่ควรชาร์จเกินกว่าร้อยละห้าสิบ และต้องคอยสัมผัสที่แบตเตอรี่ตลอดเวลาในขณะที่ชาร์จเร็วนั้นอุณหภูมิของเปลือกผิวนอกของแบตจะต้องไม่ร้อนเกินกว่า55องศาเซลเซียส


และไม่จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ราคาแพงๆที่โอ้อวดสรรพคุณ เพราะทดสอบกันมาแล้วว่าราคาถูกราคาแพงประสิทธิภาพในการใช้งานอายุการใช้งานไม่ได้ต่างกันกี่มากน้อยไม่ควรอย่างยิ่งที่จะพ่วงแบตเตอรี่โดยเครื่องชาร์จ และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะชาร์จแบตเตอรี่โดยเครื่องชาร์จในขณะที่แบตเตอรี่ยังอยู่ในรถโดยไม่ถอดสายแบตเตอรี่ทั้งขั้วลบและขั้วบวกออกก่อนต่อสายจากเครื่องชาร์จ


page reference

ขอบคุณครับ

ปรีดา ลิ้มนนทกุล
mobile : 089-3263248
email : preeda.limnontakul@gmail.com
update : Sep 23, 2007

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เชิญแสดงความคิดเห็น ให้กับเจ้าของบทความด้วยนะครับ